นิทรรศการออนไลน์ เรื่อง ฉันรักในหลวง..ในดวงใจนิรันดร์ หัวข้อ พระราชกรณียกิจเพื่อปวงประชา

ทรงสืบสานโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ทรงมีพระราชดำริให้สืบสานโบราณราชประเพณีที่สำคัญของไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติและทำนุบำรุงขวัญกำลังใจของไพร่ฟ้าประชาชน เช่นโปรดเกล้าให้ฟื้นฟู พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้ากฐินโดย กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

ทอดพระเนตรพระแสงขรรค์ สมัยอยุธยา หนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ

 

 

เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปราสาทหินพิมาย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2498

 

 

เครื่องทองล้ำค่าสมัยอยุธยาที่ขุดพบจากกรุพระปรางค์

 

 

ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมถ์ โรงเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการศึกษา และทุนพระราชทานต่างๆ เช่น ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนเนาวฤกษ์ ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนภูมิพล ทุนมูลนิธิ อานันทมหิดล นอกจากนี้พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาโดยพระราชทานพระบรมราโชวาทและกำลังใจแก่บัณฑิตที่มีความวิริยอุตสาหะจนสำเร็จการศึกษา ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจและถือเป็นเกียรติสูงสุดครั้งหนึ่งของชีวิต

 

 

“ของขวัญ”จากพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสให้สร้างถนน เรียกว่าวงแหวน โครงการถนนวงแหวนจึงเริ่มต้นขึ้น ประกอบด้วยถนนรัชดาภิเษก เป็นโครงการแรกทรงพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานถนนเส้นนี้เป็น ของขวัญให้แก่ประชาชน ต่อมาได้มีการก่อสร้าง ถนนกาญจนาภิเษก เป็นถนนที่ตัดผ่านพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครซึ่งช่วยทำให้การคมนาคมไปยังจังหวัดต่างๆ มีความสะดวกมากขึ้น และถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ที่โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นลักษณะวงแหวนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร

 

 

“คู่ขนานลอยฟ้า”เพื่อประชาชน ในพ.ศ. 2534-2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทอดพระเนตรสภาพปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปจนถึงถนนบรมราชชนนี จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างทางยกระดับจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปจนถึงถนนพุทธมณฑลสาย 2 เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร นอกจากนี้ได้มีพระราชดำริให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งให้เชื่อมต่อกับคู่ขนานลอยฟ้าซึ่งสามารถช่วยให้การสัญจร ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำมีความคล่องตัวมากขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า สะพานพระราม 8

 

 

สะพานแห่งพระราชา ช่วง พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวจากการค้าขายและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยสบปัญญาการจราจรติดขัดในพื้นที่อุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้าง ถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอันประกอบด้วยโครงข่ายถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 2 สะพาน รวมระยะทาง 25 กม. พระองค์ได้พระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือ และทิศใต้ว่า สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ตามลำดับ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จึงทำให้โครงการดังกล่าวล้วนสร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศได้เป็นอย่างดี

 

 

พระราชกรณียกิจแห่งการพัฒนาประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรในการจัดหาแหล่งน้ำและชลประทานเพื่อการเกษตรกรรมของประเทศแล้ว พระองค์ยังทรงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล เมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกอันทำให้เกิดการพัฒนาระบบคมนาคมครั้งสำคัญของกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทางอากาศในภูมอภาคเอเชียอาคเนย์

 

 

ชลประทานจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ดีกว่าเดิม พระองค์ทรงพระราชดำริให้ก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในพ.ศ. 2506พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 60,000บาท ให้กรมชลประทานดำเนินการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วทุกภาคของประเทศกว่า 3000 โครงการ เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยกะเบา โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังฯ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนราฯ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นต้น

 

 

ฝนหลวงเพื่อปวงชน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศที่มีความแห้งแล้ง ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้อย่างเต็มที่ จึงได้มีพระราชดำริถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการทำให้เมฆเกิดเป็นฝน ทั้งยังได้ทรงคิดค้นวิธีดัดแปลงสภาพอากาศโดยกระบวนการทางฟิสิกส์และได้ทดลองอย่างต่อเนื่อง จนก่อเกิดเป็น “ฝนหลวงพระราชทาน” ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ห่างไกล และยังช่วยบรรเทาปัญหาจากหมอกควันจากไฟป่าได้เป็นอย่างดี

 

 

ทรงก่อตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงรวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนาเกิดความสมบูรณ์ขึ้น

 

 

แนวพระราชดำริการจัดการทรัพยากรน้ำและมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรน้ำ ด้วยทรงนำลักษณะการกินอาหารของลิงที่จะเก็บไว้ในกระพุ้งแก้มแล้วจึงนำออกมาเคี้ยวในภายหลังมาประยุกต์ปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ยังทรงประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา เมื่อพ.ศ. 2531 เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และทรงคิดค้นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยหลักอธรรมปราบอธรรม คือการนำผักตบชวาซึ่งเป็นวัชพืชมาทำหน้าที่ดูดซับความสกปรกรวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย ก่อเกิดเป็นโครงการบำบัดน้ำเสีย บึงมักกะสัน

 

 

ทรงเป็นปราชญ์แห่งดิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทอดพระเนตรสภาพดินที่เสื่อมจนไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้ จึงทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินด้วยหลักวิชาการและเทคโนโลยี เช่น การอนุรักษ์และป้องกันการพังทลายของหน้าดินด้วยการใช้ หญ้าแฝก การแก้ปัญหาดินเค็มด้วยการใช้ระบบชลประทานเจือจางตามแนวพระราชดำริ การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวด้วยกระบวนการแกล้งดิน ที่สามารถพลิกฟื้นคืนสภาพดินให้เพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง

 

 

โครงการเกษตรจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรของไทยให้เจริญก้าวหน้า ทรงพระกรุราโปรดเกล้าให้ก่อตั้ง โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อศึกษาทดลองงานด้านการเกษตรต่างๆ เช่น นาข้าวทดลอง โครงการทดลองเลี้ยงโคนม การเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล โรงน้ำผลไม้สวนจิตรลดา โรงผลไม้อบแห้ง โรงน้ำผึ้ง โรงเนยแข็ง โรงขนมอบ โรงเพาะเห็ด เป็นต้น

 

 

ทรงอุปถัมภ์การแพทย์ของไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสำคัญ จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ อีกทั้งทรงเชอญชวนประชาชนผ่านสถานี อ.ส.พระราชวังดุสิตเพื่อร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ พระราชทาน เรือเวชพาหน์ สำหรับเข้ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ริมน้ำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และแพทย์อาสาสมัครโดยเสด็จในขบวนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คณะแพทย์เหล่านั้นสามารถรักษาผู้ป่วยในท้องถิ่นต่างๆ ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรได้ในทันที

 

 

ปรัชญาแห่งพระราชา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” แก่พสกนิกรไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มุ่งเน้นใน ทางสายกลาง ควบคู่กับความรู้และคุณธรรมซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ล้วนสร้างคุณูปการอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 องค์การสหประชาชาติจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ เพื่อเป็นการประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ไปสู่นานาประเทศ

 

 

นางอิรีน่า โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวถวายสดุดี พระเกียรติคุณ รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวโลก